อาการ ละเมอ เป็นอันตรายหรือไม่ ?

ละเมอ

                อาการนอน ‘ละเมอ’ นั้นนับว่าเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ซึ่งนับว่าเป็นความผิดปกติรูปแบบหนึ่งในการนอนหลับ ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่า Somnambulism ซึ่งเกิดจากการรวมกันของคำว่า Somnus (การนอนหลับ) และ Ambulation (เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว) อาการของความผิดปกติชนิดนี้ครอบคลุมหลายอย่าง เช่น ละเมอคุย ละเมอกิน ละเมอเดินไปหยิบของในตู้เย็น เป็นต้น และพอกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินไปซักระยะหนึ่งแล้วก็จะกลับมานอนต่อดังเดิม ส่วนระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบุคคลมีการแสดงออกอย่างไร

                ดังที่ได้จั่วหัวไว้ว่า นอนละเมอเป็นอันตรายหรือไม่ ? หลาย ๆ ท่านก็อาจจะเผชิญกับเหตุการณ์นอนละเมอมาแล้วบ้าง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งตนเองแสดงอาการออกมาแล้วรับรู้ในภายหลังจากคนใกล้ชิด แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมว่าอันที่จริงแล้วเคยมีกรณีที่สุดโต่งของอาการนอนละเมอและทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้เลยทีเดียว วันนี้จึงขอนำเสนอสองเรื่องคือ หนึ่งการละเมอเกิดขึ้นได้อย่างไร และสองกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากหนังสือเรื่อง Why We Sleep ของ Mr.Matthew Walker มาฝากครับ เชิญติดตามได้เลยครับ

ละเมอ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

                 ปัจจุบันเราอาจจะยังหาสาเหตุที่ถ่องแท้ของอาการเดินละเมอไม่ได้อย่างแท้จริง แต่ก็มีหลักฐานจากการทดลองซึ่งทำให้เราทราบว่า การที่กิจกรรมของระบบประสาททำงานเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันช่วงเวลาหนึ่ง ขณะที่เราอยู่ในสภาะหลับลึก หรือ NREM (Non Rapid Eye movement เป็นช่วงหลับลึกที่เราจะไม่ฝันและกล้ามเนื้อในร่างกายจะผ่อนคลาย)  ทำให้สมองถูกปลุกขึ้นจากสภาวะที่หลับลึกที่สุดขึ้นอยู่ระหว่างกึ่งกลางของสภาวะหลับลึกกับสภาวะตื่นนอน (เนื่องจากคลื่นสมองที่มีกิจกรรมเยอะนั้นจะเป็นช่วงขณะที่เราตื่นตัวอยู่) เมื่อเข้าถึงสภาวะดังกล่าว ร่างกายของเราก็จะสับสนว่า สรุปนี่เราหลับหรือตื่นกันแน่นะ เลยทำให้เราแสดงพฤติกรรมพื้นฐานอย่างเช่นการเดิน การเปิดตู้เย็นหยิบน้ำมาดื่ม หรือพูดออกมาเป็นประโยคได้อย่างปกติ

                ซึ่งการวินิจฉัยอาการเดินละเมออย่างเต็มรูปแบบนั้นจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องทดลองหนึ่งถึงสองคืนเพื่อจะบันทึกพฤติกรรมด้วยกล้องวีดิโอและบันทึกคลื่นสมองโดยการติดขั้ววัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไว้ที่ศีรษะ ชั่วขณะที่การละเมอปรากฎขึ้น สิ่งที่ปรากฎจากวีดิโอและคลื่นสมองแสดงให้เราตีความได้ว่าต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำลังโกหกเรา เนื่องทั้งสองค่านี้ขัดแย้งกันเองตามหลักวิทยาศาสตร์ ฝั่งของวีดิโอนั้นแสดงว่าผู้ป่วยของเราดำเนินกิจกรรมได้อย่างปกติเหมือนคนตื่นนอนทั่วไป แต่คลื่นสมองนั้นกลับเคลื่อนไหวเชื่องช้าดังรูปกราฟด้านล่างซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะคลื่นของสมองที่แตกต่างกันในแต่ละขั้นของการนอน

Brain-wave-state

ขอบคุณที่มาจาก The Science of Sleep – HelpGuide.org

              โดยทั่วไปแล้วหากเราแสดงอาการไม่ได้รุนแรงหรือไม่ได้กระทบต่อตนเองและคนรอบข้างนั้นก็ถือว่าไม่ได้เป็นอันตราย ต่อไปผมจะพาไปดูตัวอย่างสุดโต่งที่ได้กล่าวมาแล้วว่ามีรายละเอียดอย่างไรกันบ้างนะครับ

เหตุเกิดขณะหลับไหล

Sleep-walk

ขอบคุณที่มาจาก “Forensic Files” Walking Terror (TV Episode 2005) – IMDb

             [1] เหตุเกิดขึ้นในปี 1987 เคนเนท พาร์คส์ (Kenneth Parks) ในวัย 23 ปี ณ ขณะนั้นอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาววัยห้าเดือนด้วยความปกติ แต่ช่วงที่ผ่านมาตัวเขาเองมีปัญหานอนไม่หลับจากอาการเครียดเนื่องจากตกงานและติดหนี้พนัน จากที่ทราบคือพาร์คส์นั้นไม่ใช่บุคคลที่ชอบใช้ความรุนแรงและชีวิตในครอบครัวเขาก็เป็นราบรื่นดี อีกทั้งยังไม่มีปัญหาใด ๆ กับพ่อตาแม่ยายด้วย

                ขึ้นหนึ่งหลังจากที่เขาผล็อยหลับบนโซฟาหน้าโทรทัศน์ประมาณตีหนึ่งครึ่ง พาร์คส์ก็ลุกขึ้นและเดินเท้าเปล่าขึ้นรถและขับออกไปจากบ้านด้วยระยะทางที่ขับไปคือ 14 ไมล์ (22.4 กิโลเมตร) จากบ้านเขาสู่บ้านของพ่อตาและแม่ยาย เมื่อไปถึงบ้านพาร์คส์ก็บุกเข้าไปทำร้ายแม่ยาย เริ่มต้นจากการแทงด้วยมีดที่เขาหยิบจากห้องครัวในบ้านหลังนั้น ทำให้เมื่อยายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนพ่อตาโดนบีบคอจนหมดสติและโดนฟันด้วยมีดเล่มเดียวกันนั้น แต่โชคยังดีที่รอดมาได้ หลังจากนั้นพาร์คส์ก็กลับขึ้นรถไป พอจุดหนึ่งที่เขาตื่นได้เต็มที่เขาก็ขับรถไปสถานีตำรวจพร้อมกับแจ้งว่า ผมเพิ่งฆ่าคนตาย และเนื้อตัวเขาก็มีเลือดออกเยอะไปหมด เนื่องจากเขาเพิ่งรู้ตอนตื่นมาว่าเขาได้เผลอทำมีดบาดเอ็นกล้ามเนื้อตัวเอง

                เนื่องจากการให้การปะติดปะต่อไม่ค่อยได้ เพราะตัวจำเลยเองไม่สามารถจำเหตุการณ์ได้ทั้งหมด จำได้เพียงว่าเห็นภาพแม่ยายกำลังตะโกนขอความช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจและมีประวัติการเดินละเมอของตัวเขาและครอบครัว ศาลจึงตัดสินให้คดีของพาร์คส์ไม่มีความผิด เนื่องจากจำเลยลงมือในขณะที่ไม่มีสติรู้ตัวและไม่มีแรงจูงใจใด  ๆ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1988 และทำให้คดีจบลง

                จากกรณีศึกษาที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั้น อาจจะทำให้บอกได้ว่าอาการละเมออาจจะนำไปสู่เหตุการณ์อันตรายได้ แต่หากการละเมอส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือบุคคลรอบข้าง ทางการแพทย์จะเข้ามาแทรกแซง ณ จุดนี้เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนขวัญดังตัวอย่างที่ยกมา ซึ่งการรักษาอาการละเมอนั้นอาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการจัดการกับสุขนิสัยการนอนที่ดี โดยการเข้านอนตรงเวลา งดกิจกรรมตื่นเต้นก่อนนอน อาบน้ำอุ่นเพื่อผ่อนคลาย หรืออาจจะเป็นการนั่งสมาธิสำรวจอารมณ์สำรวจร่างกายเพื่อให้ผ่อนคลายความเครียดความกังวลได้

                สุดท้ายนี้ขอนำคลิปวีดิโอดี ๆ จากช่อง พบหมอรามา[2] ดังด้านล่างนี้เพื่อให้ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นนะครับ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าสวัสดีครับ

admin@Acover

See all author post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are makes.